พรีเมียร์ กำหนดแนวทางปฏิบัติส่งให้สโมสรทำตาม

 

บีบีซี สื่อชื่อดังของอังกฤษ ได้รายงานข่าวว่า พรีเมียร์ลีกก็ได้ออกกฎสำหรับการกลับมาซ้อมเป็นกลุ่ม ซึ่งช่วงแรกมีการห้ามปะทะ และต้องฆ่าเชื้อหญ้าในสนามด้วย เพื่อให้สโมสรสมาชิกนำไปปฏิบัติ

พรีเมียร์ลีก ได้ส่งข้อปฏิบัติต่างๆ ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการฝึกซ้อม ให้กับบรรดาผู้เล่น และผู้จัดการทีมของทั้ง 20 สโมสร ก่อนที่จะกลับมาซ้อมเป็นกลุ่มอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในวันจันทร์หน้า ซึ่งข้อปฏิบัติสำคัญ สำหรับการซ้อมเป็นกลุ่มในระยะแรกโดยจะมีผู้สังเกตการณ์อย่างเข้มงวดเพื่อให้ทำตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) คือ จำกัดการซ้อมกลุ่มละไม่เกิน 5 คน, การซ้อมแต่ละช่วงห้ามใช้เวลาเกิน 75 นาที ซึ่งในระหว่างซ้อม นักเตะต้องงดการเข้าปะทะกันด้วย

ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกซ้อม เช่น ลูกฟุตบอล, ธงเตะมุม, เสา-คานประตู, กรวย ไม่เว้นแม้กระทั่งหญ้าในสนามต้องได้รับการฆ่าเชื้อ ทั้งก่อน-ระหว่างและหลังการซ้อมในแต่ละช่วงอีกด้วย

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ ทุกคนในทีมต้องตรวจเชื้อโควิด-19 สัปดาห์ละ 2 ครั้ง, ก่อนซ้อมในแต่ละวันต้องทำแบบสอบถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย, ห้ามรวมกลุ่มกันในพื้นที่ส่วนกลาง (ยกเว้นห้องแพทย์และโรงยิม), ห้ามใช้ยานพาหนะร่วมกับผู้อื่น ทั้งการเดินทางมาสนามซ้อม หรือเดินทางกลับบ้าน โดยทุกคนต้องทำความสะอาดรถตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และจะไม่มีการใช้รถหรือยานพาหนะประจำทีม รวมถึงงดการเดินทางโดยรถสาธารณะด้วย ทั้งนี้ การซ้อมระยะต่อไปต้องรอให้รัฐบาลอนุมัติก่อน ซึ่งต้องดูกันอีกทีว่าจะเปิดโอกาสให้นักเตะสามารถเข้าปะทะกันได้อีกครั้งเมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม ความพยายามกลับมาแข่งต่อของ พรีเมียร์ลีก ภายใต้โปรเจกต์รี-สตาร์ต เริ่มมีนักเตะคัดค้าน โดย แดนนี โรส แบ็กซ้ายที่ “สาลิกาดง” นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยืมตัวมาจาก “ไก่เดือยทอง” ทอตแนม ฮอต สเปอร์ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าตัวเขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลอังกฤษให้กลับมาแข่งฟุตบอลอาชีพได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน แม้จะยังห้ามแฟนบอลเข้าสนาม ขณะที่พรีเมียร์ลีก ก็ตั้งเป้ากลับมาเริ่มเตะกันในวันที่ 12 มิถุนายน

โดยตัวเขาออกมากล่าวอย่างดุเดือดว่า “ไม่พอใจมากที่รัฐบาลบอกว่าการกลับมาแข่งต่อของฟุตบอล จะช่วยคืนความสุขและขวัญกำลังใจของคนในชาติได้ เพราะตอนนี้ชีวิตของประชาชนยังอยู่ในความเสี่ยง การที่ฟุตบอลจะกลับมาแข่งต่อจึงเป็นเรื่องไร้สาระ และยังไม่ควรพูดถึงจนกว่าผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด”